top of page

มือรู้สึกชา อาจเป็นมากกว่าที่คุณคิด รู้จักโรคโพรงฝ่ามือกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome)

โรคชามือจากโพรงฝ่ามือกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) เป็นสาเหตุของอาการชานิ้วมือที่พบได้บ่อยที่สุด หากได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆจากแพทย์ผู้ชำนาญ สามารถรักษาได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

อาการชามือ

เกิดจากพังพืดที่ฝ่ามือหนาตัวขึ้นแล้วไปกดเบียดในโพรงฝ่ามือ ซึ่งมีเส้นประสาทมือลอดผ่าน ทำให้มีอาการปวดแปลบๆเหมือนไฟฟ้าช็อต เสียวไปปลายนิ้ว ชามือโดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้นิ้วกลาง และนิ้วนาง หากปล่อยทิ้งไว้นานจะมีอ่อนแรงกล้ามเนื้ออุ้งหัวแม่มือได้ สาเหตุ

เกิดจากการใช้งานข้อมือในท่าเดิมๆนานๆ หรือเกิดร่วมกับภาวะบางอย่างเช่น ตั้งครรภ์วัยทอง เบาหวาน ข้ออักเสบเรื้อรังต่างๆ

การวินิจฉัย

สามารถทำได้โดยการตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ หรือแพทย์ทั่วไปที่ชำนาญ การตรวจพิเศษจะใช้ในรายที่ประวัติและการตรวจร่างกายไม่ชัดเจนเท่านั้น โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG) และความเร็วในการนำเส้นประสาท (NCV)


การรักษา

หากอาการเพิ่งเริ่มต้น สามารถรักษาได้ดังนี้ 1. การพักการใช้งานข้อมือ อาจใช้การใส่ที่ประคองข้อมือ 2. การกินยา ควรได้รับการจ่ายยาจากแพทย์ผู้ชำนาญ เนื่องจากยาแก้ปวด แก้อักเสบที่ซื้อได้ทั่วไป อาจรักษาอาการได้เพียงชั่วคราว และถ้ากินต่อเนื่องนานอาจมีผลข้างเคียงได้ 3. การทำกายภาพ โดยการทำอัลตร้าซาวด์ ลดการอักเสบหรือการฝึกบริหารมือเพื่อคลายพังพืดฝ่ามือ 4. การฉีดยา ในรายที่กินยาอาการไม่ดีขึ้น จะพิจารณาฉีดยาแก้อักเสบ เข้าในโพรงฝ่ามือ ซึ่งควรฉีดโดยแพทย์ผู้ชำนาญ

หากในรายที่มีอาการมาก เช่น ชาตลอดเวลา กล้ามเนื้ออุ้งหัวแม่มือลีบอ่อนแรง มีอาการนานกว่า 10 เดือน อายุมากกว่า 50 ปีหรือมีเอ็นนิ้วหรือข้อมืออักเสบร่วมด้วย การรักษาที่กล่าวมาข้างต้นอาจไม่ประสบความสำเร็จ ต้องพิจารณาการรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อคลายพังพืดฝ่ามือที่กดทับ ซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็ก ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที สามารถกลับบ้านหลังผ่าตัดได้แต่หากมีอาการรุนแรงมากจนไม่สามารถกางนิ้วหัวแม่มือได้ อาจปรึกษาแพทย์เพื่อการผ่าตัดแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป นอกจากโพรงฝ่ามือกดทับเส้นประสาทแล้ว อาการชามือ อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆได้ เช่น กระดูกคอทับเส้นประสาท ร่างแหเส้นประสาทแขนอักเสบ เส้นประสาทแขนกดทับที่ศอก ซึ่งควรได้รับการตรวจจากแพทย์เพื่อวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง และได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป






บทความโดย

นพ.พิเชฐ แสงทองศิลป์

ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ (กระดูกและข้อ)

8 views0 comments

Comments


LINE_SOCIAL_Circle.png
bottom of page